The Top Leader 'Sriracha Harbour' in Facility Investment “ศรีราชา ฮาร์เบอร์” ปรับกลยุทธ์เชิงรุกพัฒนาท่าเรือรอบด้าน
The Top Leader 'Sriracha Harbour' in Facility Investment “ศรีราชา ฮาร์เบอร์” ปรับกลยุทธ์เชิงรุกพัฒนาท่าเรือรอบด้าน
“ศรีราชา ฮาร์เบอร์” ผู้นำท่าเรือ Bulk & General Cargo เล็งผุดธุรกิจใหม่ให้บริการ LNG เร่งปรับกลยุทธ์เชิงรุกพัฒนาท่าเรือ เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการให้บริการ ก้าวสู่ e-Port อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นแนวทางการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัท ศรีราชา ฮาร์เบอร์ จำกัด (มหาชน) “ผู้นำด้านท่าเรือ Bulk & General Cargo” มาตรฐานการบริการระดับสากล กว่า 30 ปี แห่งความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการพัฒนาประสิทธิภาพบริการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพและเลือกใช้บริการมาโดยตลอด และในวันนี้ “ศรีราชา ฮาร์เบอร์” ได้ปรับกลยุทธ์เชิงรุกพัฒนาท่าเรือ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เพื่อให้มาตรฐานการบริการเป็นสากล มุ่งสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะ e-Port อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพของการดำเนินงานภายในองค์กร ทำให้กระบวนการทำงานมีความชัดเจน และมีความแม่นยำ เพื่อเป็นแนวทางการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยทัศนคติในการทำงาน "ความสำเร็จของคุณ คือความสำเร็จของเรา"
ศรีราชา ฮาร์เบอร์ เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 10 ตุลาคม 2532 โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันทาง เศรษฐกิจ และเป็นประตูการค้าในการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่มีประสิทธิภาพของประเทศไทย ในยุคโลกาภิวัตน์ โดย คุณวิกิจ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท ศรีราชา ฮาร์เบอร์ จำกัด (มหาชน) ได้แสดงทรรศนะในการบริหารงานว่า ศรีราชา ฮาร์เบอร์ ได้วางกลยุทธ์เชิงรุกพัฒนาการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการให้บริการ ก้าวสู่ e-Port อย่างเต็มรูปแบบ เล็งขยายธุรกิจให้บริการ LNG พร้อมพัฒนาท่าเรือสนองนโยบายการพัฒนา Eastern Seaboard Phase II หรือ EEC (Eastern Economics Corridor)
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบจากทุกภาคส่วนธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทย ที่ไม่สามารถดำเนินการได้หรือลดน้อยลง ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยอย่างมาก ซึ่งคุณวิกิจ มองว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้น ศรีราชา ฮาร์เบอร์ ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ในการให้บริการ พยายามพัฒนาคุณภาพบริการ ดูเรื่องต้นทุน รวมทั้งลดราคาค่าบริการ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้
“นับเป็นจังหวะที่ดีที่บริษัทฯ มีเวลาพัฒนาคุณภาพบริการ พัฒนาระบบให้มีความแข็งแรงมากขึ้น พยายามบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่นได้ ซึ่งมั่นใจว่าเรื่องบริการเราเหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่น เพราะเรามีความชำนาญ มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ศรีราชา ฮาร์เบอร์ ยังเป็นท่าเรือ Bulk ที่มีน้ำลึกที่สุด สามารถรองรับเรือที่มีขนาดใหญ่กว่า 50,000 ตัน มั่นใจว่าท่าเรือของเราเป็นท่าเรือที่ดีที่สุด อุปกรณ์เครื่องมือมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพดีกว่าคู่แข่ง” คุณวิกิจ กล่าว
ปูพรมขยายบริการสินค้าประเภท LNG (Liquefied Natural Gas)
หลังจากภาครัฐมีนโยบายปลดล็อกการผูกขาดธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยเปิดโอกาสให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นำร่องทดลองเป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ Shipper เพื่อมาป้อนโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เอง ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณให้เอกชนรายอื่นเตรียมพร้อมก่อนที่ภาครัฐจะเปิดเสรีก๊าซฯ เต็มรูปแบบในอนาคต เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติอย่างเป็นธรรม เปิดโอกาสให้เอกชนรายใหม่เตรียมความพร้อมในการนำเข้า LNG ในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและเสริมสร้างเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 และแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน
โอกาสและความท้าทาย ของศรีราชา ฮาร์เบอร์ ทิศทางและความเป็นไปได้ในการขยายบริการสู่ผู้ให้บริการสินค้าประเภท LNG (Liquefied Natural Gas) นั้น คุณวิกิจ กว่าวว่า LNG เป็นสินค้าที่น่าสนใจ ขณะนี้ LNG มีราคาถูกลง ลูกค้าและโรงงานอุตสาหกรรมบางโรงเริ่มเปลี่ยนการใช้พลังงานจากการใช้ถ่านหินมาใช้ LNG มากขึ้น ทำให้เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่ง ศรีราชา ฮาร์เบอร์ มีความพร้อม รวมทั้งมีขีดความสามารถในการรองรับสินค้าประเภท LNG ได้ รวมทั้ง ศรีราชา ฮาร์เบอร์ ยังได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการท่าเรือเดินทะเล ขนถ่ายสินค้าเทกอง สินค้าทั่วไป และตู้คอนเทนเนอร์ จากกรมเจ้าท่าอีกด้วย
“ขณะนี้มีลูกค้า LNG หลายรายที่สนใจเข้ามาใช้บริการ โดยเป็นทั้งลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ ศรีราชา ฮาร์เบอร์ จะเปิดให้บริการ ต้องยอมรับว่า LNG เป็นสินค้าที่น่าสนใจ อย่างไรก็ดี ในแง่ประสิทธิภาพและความพร้อมในการให้บริการนั้น มั่นใจว่า ศรีราชา ฮาร์เบอร์ มีความพร้อมสามารถให้บริการได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลรอบด้านเพื่อการตัดสินใจ คาดว่าภายในปี 2564 จะมีความชัดเจนมากขึ้น” คุณวิกิจ กล่าว
สำหรับแนวนโยบายในเรื่อง LNG นั้น กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีราชา ฮาร์เบอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คาดว่าจะเริ่มให้บริการจากผู้ประกอบการรายย่อยก่อน ส่วนในอนาคตหากปริมาณมากขึ้น มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ศรีราชา ฮาร์เบอร์ ก็มีความพร้อม รวมถึงอาจมีแผนสร้างแทงค์ LNG อีกด้วย เพราะยังมีพื้นที่ที่สามารถสร้างแทงค์ได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำการศึกษาความเป็นได้ ซึ่ง ศรีราชา ฮาร์เบอร์ มีความพร้อมและสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างแน่นอน เพราะต้องยอมรับว่า LNG เป็นการให้บริการสินค้ารูปแบบใหม่ของท่าเรือ ซึ่งต้องมีการดูแลด้านการบริหารจัดการ, การจัดเก็บโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนของท่าเรือ และเชื่อมั่นใจว่าบุคคลกรและบริษัทสามารถทำได้
ศรีราชา ฮาร์เบอร์ ยกระดับสู่ e-Port
พร้อมเร่งเสริมขีดความสามารถการบริการ
จากสถานการณ์โรคระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจ และส่งผลต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเล ดังนั้น ศรีราชา ฮาร์เบอร์ จึงพลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับอุปกรณ์ยกขนสินค้าให้มีความทันสมัย และยกระดับเครื่องมือให้มีขีดความสามารถที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
ในเรื่องนี้ คุณประวิม หอรุ่งเรือง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายปฏิบัติการ (COO) กล่าวถึงการปรับกลยุทธ์และแผนเพิ่มศักยภาพการให้บริการว่า การบริการจัดการและการให้บริการในท่าเรือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมา ศรีราชา ฮาร์เบอร์ ได้พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์เครื่องมือให้มีความสะดวกและพร้อมให้บริการกับลูกค้า ซึ่งในปี 2563 นี้ เป็นปีแห่งการพัฒนา ปรับปรุงและเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณสินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2564 พร้อมทั้งเดินหน้าซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมให้บริการในแบบ NEW NORMAL ภายหลังวิกฤติดโควิด-19
คุณประวิม กล่าวเพิ่มเติมว่า ศรีราชา ฮาร์เบอร์ มุ่งสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะ e-Port อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพของการดำเนินงานภายในองค์กร ทำให้กระบวนการทำงานมีความชัดเจน และมีความแม่นยำ ซึ่งเน้นการทำงานด้วยเทคโนโลยี ใช้การสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อลดความผิดพลาด ทำให้การทำงานมีความแม่นยำ-รวดเร็ว ได้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ และในอนาคตจะพัฒนาด้านเทคโนโลยี ด้วย Application บน Smartphone, Web Application ที่ www.srirachaport.com เพื่อให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย
“ศรีราชา ฮาร์เบอร์ ได้ดำเนินการพัฒนาระบบการรับสินค้า/ส่งสินค้าภายในเขตท่าเรืออย่างต่อเนื่อง โดยใช้ RFID, QR CODE และ Bar code จนครอบคลุมทุกประเภทสินค้าที่ให้บริการ โดยระบบต่างๆนี้ จะช่วยให้การตรวจสอบและการเคลื่อนย้ายสินค้าเข้าและออกจากท่าเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการออกรายงานที่ล่าช้า ช่วยให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบปริมาณสินค้า ได้ทันที ลดการสูญหายของสินค้า, ลดการเดินทางของลูกค้าเพื่อตรวจสอบสินค้า ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มมากขึ้น“เราต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความต้องการที่แตกต่างกันให้ได้ การให้บริการแบบ Dynamics operation จะช่วยตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละรายอย่างดียิ่งขึ้น” คุณประวิม กล่าว
ในปี 2564 คุณประวิม มองว่า ลูกค้าน่าจะมีความต้องการใช้บริการลานกองตู้สินค้ามากขึ้น หากปี 2564 สถานการณ์การค้าดีขึ้น บริษัทฯ จะขยายบริการ ปัจจุบันมีท่าเรือมีพื้นที่รอการพัฒนากว่า 20 ไร่ ที่สามารถใช้ประโยชน์ ซึ่งในปีนี้เรามีแผนที่จะปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อให้มีพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น
การพัฒนาคุณภาพบริการและการปรับกลยุทธ์แบบ Dynamic operation strategy เพื่อรับมือการแข่งขันทางการค้าที่เข้มข้น นับเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ “ศรีราชา ฮาร์เบอร์” นอกจากจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรแล้ว ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ส่งออกนำเข้าไทยอีกด้วย
สอบถามข้อมูลติดต่อ ศรีราชา ฮาร์เบอร์
โทร : 662-719-9631-6 Fax : 662-719-9629
เว็บไซต์: https://www.srirachaport.com l Facebook l eMail : natphasit@srirachaport.com
17 สิงหาคม 2564
ผู้ชม 4335 ครั้ง