
Logistics Mag Magazine Vol.56 @eBook download
Logistics Mag Magazine Vol.55 @eBook download
เอสซีจี แถลงผลประกอบการ ปี 2565 สู้วิกฤติพลังงานพุ่ง ปิโตรเคมีขาลง
เร่งธุรกิจกรีนตอบเมกะเทรนด์โลก คว้าโอกาสเศรษฐกิจฟื้น มั่นใจเสถียรภาพการเงินมั่นคง
เอสซีจี เผยผลประกอบการปี 2565 ยอดขายเพิ่ม กำไรลดลง จากต้นทุนพลังงานสูงขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้อ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว วัฏจักรปิโตรเคมีขาลง เร่งเดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ มุ่งสินค้ากรีน ตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก คว้าโอกาสเศรษฐกิจฟื้น สร้างการเติบโตต่อเนื่อง กลุ่มพลังงานสะอาดโต 78% –พลาสติกรักษ์โลกยอดขายกว่า 140,000 ตัน ขยายตัวกว่า 5 เท่า – โซลูชันประหยัดพลังงานบวกรับตลาด 40% –พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ลดการใช้ทรัพยากร ล่าสุด LSPพร้อมเดินเครื่องผลิตสินค้าสู่ตลาด กลางปี 2566 มั่นใจการเงินมั่นคง จากการรักษาสภาพคล่องอย่างเคร่งครัด มุ่งลดต้นทุน ลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ผลประกอบการเอสซีจีปี 2565 มีรายได้ 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 กำไร 21,382 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 55 สาเหตุจากเศรษฐกิจชะลอตัว ปิโตรเคมีขาลง ต้นทุนพลังงานสูง ในขณะที่ ไตรมาส 4 ปี 2565 มีกำไร 157 ล้านบาท ทั้งนี้ หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่น จะมีกำไร 1,070 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 66จากไตรมาสก่อน ทั้งหมดนี้ เป็นผลจากวิกฤติซ้อนวิกฤติความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้อ ค่าเงินบาทผันผวนเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี แต่เอสซีจีได้เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปรับตัวฉับไวเพื่อบรรเทาผลกระทบที่มีต่อธุรกิจโดยรวม โดยมุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้มั่นคง ลดต้นทุนโดยใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิต พิจารณาการลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ ส่งผลให้เงินสดคงเหลือแข็งแกร่งอยู่ที่ 95,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ความท้าทายที่ผ่านมาก็เอื้อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจ โดยเฉพาะความต้องการสินค้ากรีน ซึ่งเป็นทิศทางสำคัญของโลกและมีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มพลังงานสะอาด พลาสติกรักษ์โลก โซลูชันประหยัดพลังงาน บรรจุภัณฑ์ที่ลดการใช้ทรัพยากร โดยในปี 2565 ยอดขาย SCG Green Choice เติบโตโดดเด่นร้อยละ 34 เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือมียอดขายรวม ร้อยละ 51 ซึ่งทุกกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีพร้อมเร่งเดินหน้าเต็มที่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น จากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคกลับมาคึกคัก ขณะที่ตลาดอาเซียนปรับตัวขึ้นตามการเปิดประเทศของจีน ราคาถ่านหินในตลาดโลกลดลงหลังจากช่วงฤดูหนาว และเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว เอสซีจีเชื่อมั่นว่าจะสามารถผ่านวิกฤติในครั้งนี้ และตอบความต้องการใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี”
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “จากวิกฤติต้นทุนพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เอสซีจีจึงรุกธุรกิจพลังงานสะอาด โดยมีขนาดกำลังการผลิต 234 เมกะวัตต์ในปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 78 จากปีก่อน ด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid สำหรับนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล ล่าสุดติดตั้งแล้วที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง เชื่อมโยงพลังงานสะอาดระหว่าง 10 บริษัทช่วยลดต้นทุนพลังงาน ร้อยละ 30 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,670 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ซึ่งธุรกิจนี้ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาดของเอสซีจี เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลก โดยปี 2565 เอสซีจีเพิ่มสัดส่วนใช้เชื้อเพลิงทดแทนเป็นร้อยละ 34 จากร้อยละ 26 ในปีก่อน และมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 194 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจาก 130 เมกะวัตต์ในปีก่อน ขณะเดียวกัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture and Utilization - CCU) จากการผลิตปูนซีเมนต์ในไทยและอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050 โดยร่วมกับ นิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง และ ไทยนิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น”
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก “SCGC GREEN POLYMERTM” ต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดโลก มียอดขายกว่า 140,000 ตัน เติบโตกว่า 5 เท่า ในปีที่ผ่านมา อีกทั้ง ได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกครบวงจร โดยลงนามซื้อกิจการของคราส (Kras) / Recycling Holding Volendam B.V. ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้จากประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจฯ ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ครอบคลุมภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ทั้งนี้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจาก SCGC ได้รับมาตรฐานสากลจากหลายองค์กรชั้นนำระดับโลก อาทิ EuCertPlast จากยุโรป ซึ่งรับรองแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลว่ามาจากพลาสติกใช้แล้ว ช่วยลดปัญหาขยะ และมาตรฐาน Recyclass จากการพัฒนาสารเคลือบชั้นฟิล์มที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลให้กับบรรจุภัณฑ์พลาสติก ถือเป็นรายแรกในอาเซียน ขณะเดียวกัน บริษัท ลองเซินปิโตรเคมิคอลส์ จำกัด (Long Son Petrochemicals Company Limited - LSP) โครงการปิโตรเคมีครบวงจร ที่เวียดนาม คืบหน้ากว่าร้อยละ 98 พร้อมเดินเครื่องผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดกลางปีนี้”
นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีเร่งผลักดันธุรกิจสมาร์ท ลิฟวิ่ง โดยเฉพาะโซลูชันเพื่อประหยัดพลังงานและค่าไฟ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในช่วงค่าไฟปรับตัวสูง โดยในปี 2565 เติบโตกว่าร้อยละ 40 อาทิ “SCG Air Scrubber” นวัตกรรมประหยัดพลังงานระดับโลก สำหรับอาคารขนาดใหญ่ ศูนย์ประชุม หรือห้างสรรพสินค้า มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงานได้ถึงร้อยละ 20-30 ติดตั้งแล้ว 7 อาคารขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์การค้า Terminal 21 สาขาพัทยา, Kloud by Kbank สยามสแควร์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี จึงจะมีโครงการลงทุนขยายรุ่นสินค้าตามความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ ได้พัฒนา “SCG Built-in Solar Tile” นวัตกรรมแผงโซลาร์สำหรับบ้านสไตล์โมเดิร์น ที่ออกแบบเนียนเรียบไปกับผืนหลังคา ช่วยลดค่าไฟได้ร้อยละ 60”
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า “SCGP กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนานวัตกรรม เพิ่มโซลูชันบรรจุภัณฑ์ ตั้งงบลงทุนและค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในปี 2566 รวม 800 ล้านบาท โดยพัฒนานวัตกรรม “เส้นใยนาโนเซลลูโลส” จากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์อาหาร พร้อมขยายไปยังอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ และวัสดุคอมโพสิต รวมถึงต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สู่การปลูกพืชและสมุนไพรมูลค่าสูง ตลอดจนมุ่งพัฒนาวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาเป็นพลังงานหมุนเวียน โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา “เทคโนโลยี Torrefaction” เพื่อใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เสริมการดำเนินงานด้าน ESG”
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจี ประจำปี 2565 มีรายได้จากการขาย 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปีก่อน จากธุรกิจแพคเกจจิ้ง และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง โดยมีกำไรสำหรับปีอยู่ที่ 21,382 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 55 จากปีก่อน สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับลดลงต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ทั้งนี้ หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่น จะมีกำไรสำหรับปีอยู่ที่ 23,270 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 50 จากปีก่อน
สำหรับไตรมาส 4 ปี 2565 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 122,190 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 จากไตรมาสก่อนสาเหตุหลักจากราคาและปริมาณขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดที่ลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 157 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 94 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงประกอบกับต้นทุนพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากทั้งนี้ หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่น จะมีกำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 1,070 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 66 จากไตรมาสก่อน
เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) ปี 2565 อยู่ที่ 195,520 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของยอดขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) คิดเป็นร้อยละ 17และ Service Solutions คิดเป็นร้อยละ 6 ของยอดขายรวม
รายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทยในปี 2565 ทั้งสิ้น 257,880 ล้านบาท
คิดเป็นร้อยละ 45 ของยอดขายรวม ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีมูลค่า 906,490 ล้านบาท โดยร้อยละ 45 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากไทย)
ผลการดำเนินงานในปี 2565 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
นายรุ่งโรจน์ กล่าวปิดท้ายว่า “ในปีนี้ เอสซีจี ยังคงมุ่งรักษาความมั่นคงทางการเงินและสภาพคล่อง ลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ รัดเข็มขัด รวมทั้งลดต้นทุนพลังงาน ขณะเดียวกัน เร่งเดินหน้าธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ลงทุนในนวัตกรรม คว้าโอกาสเศรษฐกิจฟื้น สร้างโซลูชันรองรับเมกะเทรนด์โลก เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ ซึ่งตลาดในภูมิภาคเริ่มฟื้นและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ เอสซีจี พร้อมช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สังคม โดยปี 2565 สร้างอาชีพให้ผู้ที่เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจรวม 9,000 คน ให้มีรายได้ ลดเหลื่อมล้ำในสังคม”
คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 8.0 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 9,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 6.0 บาท เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 2.0 บาท
การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 10 เมษายน 2566 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 7 เมษายน 2566) โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 เมษายน 2566 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี
พัฒนาแอปฯค้นหาจุดชาร์จ HPC ไทย-มาเลเซีย เชื่อมเครือข่าย EV Charger ยาวที่สุดในอาเซียน
“SHARGE” ร่วมยกระดับ EV Charger ไทยสู่มาตรฐานสากลระดับโลก จับมือ Shell-Porsche สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ระดับภูมิภาคเป็นรายแรกในประเทศไทย ติดตั้ง EV Charger ความเร็ว 180-360kW สูงที่สุดในไทย ให้แก่สถานีบริการ Shell Recharge สถานีชาร์จยานยนต์พลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง หรือ HPC ในไทยทั้ง 11 แห่ง พร้อมพัฒนา Cross Border Integration เชื่อมแอปพลิเคชัน SHARGE กับผู้ให้บริการในมาเลเซีย ตอกย้ำเครือข่าย EV Charger ที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2,200 กม. คาดเปิดให้บริการครบทั้ง 11 แห่งเร็วๆนี้
นายพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้นำด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า จากวิสัยทัศน์ Scale Up EV Future บริษัทได้มุ่งขยายระบบนิเวศ EV ร่วมกับเชลล์ (Shell) ผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานระดับโลก และปอร์เช่ เอเชีย แปซิฟิก (Porsche Asia Pacific) ผู้ผลิตรถสปอร์ตสมรรถนะสูงชั้นนำของโลก ในการยกระดับ EV Infrastructure ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เติบโตรองรับเมกะเทรนด์การใช้รถ EV ด้วยการเป็นผู้จำหน่ายและผู้ติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ขนาด 180kW ซึ่งเป็นความเร็วที่สูงที่สุดในไทยในขณะนี้ ให้แก่สถานี “Shell Recharge” และสถานีชาร์จยานยนต์พลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง (HPC) ทั้ง 11 แห่งในไทย ตามโรดแมปการขยายเครือข่าย EV Charger ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามพรมแดน 3 ประเทศ คือไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ทาง Shell และ Porsche ได้ประกาศวิสัยทัศน์ไปก่อนหน้านี้ ให้ผู้ใช้งานสามารถชาร์จพลังงานจาก 0% State of Charge (SoC) ถึงระดับ 80% ภายใน 30 นาที เดินทางได้สูงสุดถึง 390 กิโลเมตร สำหรับรถปอร์เช่ ไทคานน์(Taycan)
“ด้วยนวัตกรรม HPC อันแข็งแกร่งของ SHARGE กับ 2บริษัทระดับโลกอย่าง Shell และ Porsche จะช่วย Scale Up ภารกิจขยาย EV Infrastructure ของเราให้ไปไกลกว่าเดิม เพราะเรากำลังร่วมกันสร้างเครือข่ายใหญ่ระดับภูมิภาคให้ผู้ใช้รถ EV เข้าถึงสถานีชาร์จประสิทธิภาพสูงที่เร็วแรงที่สุดได้ง่ายขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญของวงการ EV Charger ประเทศไทย ที่ได้ยกระดับเทคโนโลยีการให้บริการสู่มาตรฐานสากลระดับโลกสามารถเชื่อมเข้ากับเครือข่าย EV Charger แบบข้ามพรมแดนได้เป็นครั้งแรก สะท้อนถึงความพร้อมของ SHARGE ในการเดินหน้าขยายบริการ EV Charger ไปยังประเทศต่างๆ ในอนาคต” นายพีระภัทร กล่าว
ขณะเดียวกัน ด้วยมาตรฐานการพัฒนาแอปพลิเคชันและบริการ EV Charger ระดับสากล บริษัทยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นเป็นผู้ผสานการทำงานระหว่างแอปพลิเคชันแบบข้ามประเทศ (Cross Border Integration) เชื่อมโยงแอปพลิเคชันของ SHARGE เข้ากับแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการสถานี HPC 6 แห่งในมาเลเซีย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการรถ EV ทุกคันสามารถค้นหาสถานี HPC ของ Shell Recharge ในมาเลเซีย รวมถึงจองคิว และจ่ายเงินได้ผ่านแอปฯ SHARGE สานฝันการเป็นเครือข่าย EV Charger ที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2,200 กม.ของ Shell และ Porsche ส่งผลให้ SHARGE เป็นผู้ให้บริการ EV Charger รายแรกของประเทศไทยที่ขยายการให้บริการไปสู่ระดับภูมิภาค
เบื้องต้น บริษัทคาดว่าจะดำเนินการติดตั้งเครื่องชาร์จความเร็วสูงให้แก่สถานี HPC ของ Shell Recharge ทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศได้อย่างต่อเนื่อง จนเปิดให้บริการทุกแห่งได้เร็วๆ นี้ และเชื่อมโยงบริการแอปพลิเคชันกับมาเลเซียเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1/2566 ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนขยายความร่วมมือกับ Shell อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เชื่อว่าความร่วมมือทั้งหมดจะส่งผลให้ยอดผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน SHARGE ทะลุ 20,000 ราย และช่วยให้บริษัทสามารถส่งมอบประสบการณ์การใช้บริการ EV Charger ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้บริโภค
นายเรืองศักดิ์ ศรีธนวิบุญชัย กรรมการบริหาร ธุรกิจโมบิลิตี้ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เชลล์ ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานระดับโลก ด้วยกลยุทธ์ Powering Progress มีเป้าหมายสู่การเป็นธุรกิจพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2593 เชลล์จึงพัฒนาโซลูชันด้านพลังงานหลายรูปแบบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการพลังงานมากขึ้น โดยที่ต้องเป็นพลังงานที่สะอาดมากขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชลล์มีศักยภาพและความพร้อมที่ในการส่งมอบพลังงานต่างๆ ที่เรามีประสบการณ์อยู่ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นพลังงานโซลาร์ ไฮโดรเจน พลังงานลม เชื้อเพลิงชีวภาพ และพลังงานไฟฟ้า โดยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของนโยบายประเทศและความต้องการของลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญ
“เราเข้าใจดีว่าผู้ใช้รถ EV ต้องการความรวดเร็ว ความเชื่อถือได้ ในการชาร์จไฟฟ้า ตลอดจนความสะดวกสบายของจุดให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ชื่นชอบการเดินทางสัญจรระยะยาวข้ามประเทศ เชลล์เปิดตัวสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าสมรรถนะสูง HPC 180 kW แห่งแรกของเรา เป็นการขยายเครือข่ายการให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยาวที่สุดของเชลล์ จากสิงคโปร์ มาเลเซียและเข้าสู่ประเทศไทย ถือเป็นการขับเคลื่อนการเดินทางสำหรับอนาคตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เกิดเส้นทางสัญจรที่ปราศจากมลภาวะมุ่งสู่การเดินทางที่ยั่งยืน” นายเรืองศักดิ์ กล่าว
เชลล์มีความมุ่งมั่นอย่างสูงในการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ การทำงานร่วมกับ SHARGE ในการให้บริการสถานีชาร์จยานยนต์พลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ในไทยรายแรกของเชลล์ มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูงตามมาตรฐานสากล และด้วยการผสานการทำงานร่วมกันกับเครือข่าย Shell Recharge จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงพลังงานสะอาด และยกระดับมาตรฐานของการใช้งานของจุดชาร์จรถไฟฟ้าในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีความแข็งแกร่ง ตามเจตนารมณ์ของ Shell ในการจัดสรรพลังงานสะอาดที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน พร้อมเคียงข้างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเติบโตของประเทศ
ทั้งนี้ เชลล์ยังร่วมกับปอร์เช่ เอเชีย แปซิฟิก มอบเอกสิทธิ์เพื่อการดูแลที่เหนือระดับสำหรับเจ้าของรถยนต์ปอร์เช่ไทคานน์ (Taycan) ที่เป็นลูกค้ารายใหม่ในประเทศไทย จะได้รับสิทธิพิเศษสำหรับสถานะสมาชิกระดับ Platinum โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตลอด 3 ปี สามารถจองใช้บริการล่วงหน้า 1 ชั่วโมง โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมจอง พร้อมรับส่วนลด 50% สำหรับการชาร์จสูงสุด 850 kW ต่อปี และคะแนน Shell GO+ ถึง 10,000 คะแนน สำหรับแลกรับส่วนลดการเติมน้ำมัน หรือซื้อสินค้าและบริการในสถานีบริการน้ำมันเชลล์ เช่น ร้านสะดวกซื้อเชลล์ ซีเล็ค ร้านเชลล์ คาเฟ่ หรือ เดลี่คาเฟ่ เมื่อใช้บริการสถานี Shell Recharge ผ่านแอปพลิเคชัน SHARGE
สำหรับบริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ SHARGEเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ของไทยที่ให้บริการ EV Charging Solution แบบครบวงจรทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เพื่อรองรับ Lifestyle Charging Ecosystem ทั้ง Night, Day, On-the-go เติบโตมาจากการเป็นสตาร์ทอัพ มีบริษัทขนาดใหญ่จากหลากหลายเซ็กเตอร์เข้าร่วมลงทุนเป็นผู้ถือหุ้น อาทิ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG และบริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด
ปัจจุบัน SHARGE ให้บริการธุรกิจแก่ลูกค้าใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.Charger Sales & Installation ขายและติดตั้งเครื่องชาร์จให้แก่เจ้าของบ้านจัดสรร บ้านส่วนตัว 2.Charging as a Service ขายพลังงานไฟฟ้าสำหรับชาร์จรถยนต์ EV ตามจุดให้บริการสาธารณะต่างๆ หรือตามอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล กว่า 200 แห่ง ฯลฯ 3.Custom Corporate & Fleet Solution ขายพลังงานไฟฟ้าให้แก่องค์กรเอกชนและผู้ให้บริการยานพาหนะจำนวนมาก
ขณะที่บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2435 เป็นบริษัทพลังงานระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ ”Powering Progress” เป็นยุทธศาสตร์หลักในการเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้น ลูกค้าและสังคม เพื่อมอบพลังงานสะอาดเพิ่มประสิทธิภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเป็นธุรกิจพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593ดำเนินธุรกิจโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และยืนเคียงข้างสนับสนุนสังคมไทยและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
"สัญญาณชีพส่งออกแผ่วต่อเนื่อง คาดซึมยาวถึงมีนาคม รอลุ้นไตรมาส 2”
ผู้ส่งออกระบุพร้อมกัดฟันสู้ครึ่งปีหลังให้โต 1-3%
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร ระบุว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤศจิกายน 2565 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 22,308.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 6.0% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 846,191 ล้านบาท ขยายตัว 7.7% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนหดตัว 2.0%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,650.3 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 907,143 ล้านบาท ขยายตัว 20.6% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2565 ขาดดุลเท่ากับ 1,342.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 60,952ล้านบาท
ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – พฤศจิกายนของปี 2565 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า265,349.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,167,993 ล้านบาท ขยายตัว 18.4%(เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม – พฤศจิกายนขยายตัว 6.5%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 280,438.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,823,872 ล้านบาท ขยายตัว 28.0% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – พฤศจิกายนของปี 2565 ขาดดุลเท่ากับ 15,088.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 655,879 ล้านบาท
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
อนึ่ง สรท. คาดการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 2565 เติบโต6-6.5% และปี 2566 เติบโตระหว่าง 1-3% (ณ เดือนธันวาคม 2565) โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2565 ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนรุนแรงแบบไม่มีทิศทางที่ชัดเจน 2) สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) อาจมีการชะลอหรือลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Rate) ลง ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามาที่ไทยมากขึ้นเป็นเท่าตัว 3) ดัชนีภาคการผลิต PMI ในตลาดส่งออกสำคัญเริ่มชะลอต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนกำลังการผลิตและความต้องการของประเทศคู่ค้า 4) ราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนหลัก ยังคงมีความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตโดยรวมทั่วโลกปรับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1) ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ รวมถึงพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF (มาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพื่อลดต้นทุนของสถาบันการเงิน) เป็น 0.46 จากที่ลดลงไป 0.23 ในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการในทุกระดับ โดยเฉพาะ SMEs 2) ขอให้ช่วยชะลอหรือกำกับดูแลมาตรการภาครัฐใหม่ หรือยกเลิกมาตรการเดิมที่เป็นเหตุให้มีการเพิ่มต้นทุนกับผู้ประกอบการ/ผู้ผลิต ให้น้อยลง เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระด้านต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น กำกับดูแลค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน (น้ำมัน) และค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น 3) สนับสนุนและเร่งรัด ความต่อเนื่องของการเจรจา FTA อาทิ TH-EU / TH-GCC (กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง) และ 4) ขอให้เร่งขยายมาตรการ Soft power สินค้าอัตลักษณ์ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสามารถสร้างโอกาสในการขยายตลาดใหม่มากขึ้น